เคล็ดลับสุขภาพตามไลฟ์สไตล์ของคุณ Living a Healthy Lifestyle

ท้องเสีย…ต้องหนักขนาดไหนจึงจะทานยาปฏิชีวนะ?

23/12/2020

ท้องเสีย…ต้องหนักขนาดไหนจึงจะทานยาปฏิชีวนะ?

อย่างไร...เรียกว่าท้องเสีย 

ใน 24 ชั่วโมง มีการถ่ายเหลวเกิน 3 ครั้ง หรือถ่ายครั้งเดียวแต่มีมูก มีเลือด ถ่ายเหลวเป็นน้ำจำนวนมาก 

สาเหตุ

การรับประทานอาหารรสจัด, อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาดมีเชื้อโรค, ยาบางชนิด, สารเคมี เป็นต้น

การรักษา
1.ยาหยุดถ่าย

ตัวยา Loperamide รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ห่างกันทุก 6 ชั่วโมง สำหรับกรณีที่ต้องเดินทาง ไม่สะดวกแวะเข้าห้องน้ำ แต่ไม่ควรใช้ยานี้ต่อเนื่อง เพราะหากมีการติดเชื้อหรือได้รับสารพิษ ร่างกายจำเป็นต้องขับถ่ายออกโดยเร็ว

2.ยาแก้ปวดท้อง

ตัวยา Hyoscine รับประทานยาเวลาปวดท้อง ห่างกันทุก 6 ชั่วโมง

3.ผงเกลือแร่ ORS 

ORS (Oral Rehydration Salts) ช่วยชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปพร้อมเสริมพลังงาน ส่วนประกอบด้วยเกลือแร่ที่จำเป็นและสารให้พลังงานคือน้ำตาลกลูโคส ให้ผสมผง ORS กับน้ำดื่มตามที่กำหนด ค่อยๆ จิบจนหมด 

4.ยาเม็ดคาร์บอน

ตัวยา Medicated charcoal ช่วยดูดซับสารพิษในทางเดินอาหาร รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

5.ยาปฏิชีวนะ

ตัวยาที่ใช้ เช่น Azithromycin, Ciprofloxacin, Norfloxacin, ยากลุ่มซัลฟา เป็นต้น

มีอาการอย่างไร...จึงต้องทานยาปฏิชีวนะ

อุจจาระมีมูกหรือเลือดปน, มีไข้สูง, หรือถ่ายเป็นน้ำซาวข้าว จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะซึ่งแพทย์หรือเภสัชกรจะพิจารณาการจ่ายยาที่เหมาะสม

ควรรีบพบแพทย์ด่วน ในกรณีใดบ้าง

มีอาการท้องเสียรุนแรง เช่น ถ่ายมีมูกเลือด มีกลิ่นเหม็นคล้ายหัวกุ้งเน่า, มีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง, มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส, มีอาการท้องเสียนานกว่า 48 ชั่วโมง, มีโรคประจำตัว, เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีหรือผู้สูงอายุ



หมายเหตุ

* ปริมาณยาและวิธีรับประทานยาข้างต้น ใช้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น


เรียบเรียงข้อมูล
RX-health team